วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

2,142 การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย

พรุ่งนี้นักศึกษาพยาบาลที่มาฝึกงานจะมี conference กรณีศึกษาเรื่องการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย (urinary tract infection in males) จึงทบทวนเรื่องนี้ครับ

-อุบัติการณ์ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ( urinary tract infection, UTI) ในผู้ใหญ่เพศชายที่อายุน้อยกว่า 50 ปีต่ำ (ประมาณ 5-8 คนต่อปีต่อ 10,000 ประชากร) มักจะเกิดจากความผิดปกติของกายวิภาค, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อของท่อปัสสาวะ (เช่น อาจเกิดจากเชื้อ gonococcal และ nongonococcal) และการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก
-ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก (ความชุก 20-50% ) เพราะการมีต่อมลูกหมากโตขึ้น, กลุ่มอาการเนื่องจากโรคของต่อมลูกหมาก (prostatism), ความเสื่อมถอยของอวัยวะ, และผลที่ตามมาจากการใส่เครื่องมือในระบบทางเดินปัสสาวะ สเปกตรัมของเชื้อที่เป็นสาเหตุก็ค่อนข้างกว้างในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า โดยผู้ใหญ่ผู้หญิงเกิดมากกว่าผู้ชาย 30 เท่า ซึ่งสาเหตุที่ผู้ชายมีอัตราการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะน้อยกว่าผู้หญิงอาจเนื่องมาจากท่อทางเดินปัสสาวะในเพศชายยาวกว่าเพศหญิงทำให้เชื้อที่จะเข้าไปในทางเดินปัสสาวะส่วนลึกๆ ทำได้ยากกว่า มีสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากซึ่งมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และการที่เชื้อ E.coli จับกับ uroepithelial cells ของผู้ชายไม่ดีเท่าในผู้หญิง
-ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยโดยรวมของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชายได้แก่ ต่อมลูกหมากอักเสบ, ท่อนำน้ำเชื้ออักเสบ, อัณฑะอักเสบ, การอักเสบติดเชื้อกรวยไต, กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะอักเสบ
-การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในโรงพยาบาลและปัจจัยความเสี่ยงหลักได้แก่ การใส่สายสวนปัสสาวะ, การใช่อุปกรณ์เครื่องมือ, การผ่าตัดของระบบทางเดินปัสสาวะ และในกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะ เช่นผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง โรคเบาหวาน หรือมีการปลูกถ่ายอวัยวะ  รวมถึงกรณีที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น การติดเชื้อราแคนดิดาในทางเดินปัสสาวะ, ฝีคัณฑสูตร
-โดยในการแบ่งชนิดว่าเป็นการติดเชื้อของส่วนล่าง (lower tract) หรือส่วนบน (upper tract) จะแบ่งได้ดังนี้; ส่วนล่างได้แก่ ต่อมลูกหมากอักเสบ, ท่อนำน้ำเชื้ออักเสบ, อัณฑะอักเสบ, และท่อปัสสาวะอักเสบ และการส่วนบนคือการมีการอักเสบติดเชื้อของกรวยไต การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นจากการย้อนขึ้นไปจากส่วนล่าง หรืออาจจะมาทางกระแสเลือดก็ได้ ซึ่งรูเปิดของท่อปัสสาวะอาจบวมและสูญเสียการหน้าที่การเป็นลิ้นปิดเปิดทางเดียว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชายอาจสัมพันธ์กับการมี complicated infections ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครงสร้างที่จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อป้องกันผลที่ตามมา ดังนั้นในการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชายอย่าลืมคำนึงถึงแนวคิดนี้ด้วย
-โดยเชื้อ E coli พบได้ประมาณ 25%, proteus และ providencia พบได้รองลงมา ส่วน klebsiella, pseudomonas, serratia, และ enterococci พบได้น้อยกว่า
-การตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นและพบแบคทีเรียจะช่วยในการวินิจฉัย ส่วนมาตรฐานของการวินิจฉัยคือการพบแบคทีเรียจากการเพาะเชื้อ โดยในผู้ชายจะใช้จำนวนแบคทีเรียที่ตรวจพบน้อยกว่าในผู้หญิง โดยใช้จำนวนที่มากกว่า 10 ยกกำลัง3 /mL. (บางแนวทางใช้ที่ 10 ยกกำลัง4 /mL) รวมถึงอาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเช่นภาพถ่ายรังสี, อัลตร้าซาวด์ และอิ่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยและหาสาเหตุ
-การรักษา มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดเชื้อ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ความพิการและการเสียชีวิต (โดยในผู้สูงอายุที่เป็นกรวยไตอักเสบจะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3%) ในกรณีการติดเชื้อแบบไม่ซับซ้อน (uncomplicated UTI) การให้ยา fluoroquinolone หรือ TMP-SMX เป็นเวลา 7-14 วัน (บางแนวทางใช้ที่ 10-14 วัน) ถือเป็นคำแนะนำที่เหมาะสม ส่วนในกรณีที่เป็นต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันสามารถปรับเปลี่ยนยาตามผลการเพาะเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ถ้าเป็นต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรังควรให้การรักษา 4-6 สัปดาห์ และถ้าเป็นการเกิดซ้ำของต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง (ซึ่งพบไม่บ่อย) จะต้องให้การรักษาเป็นเวลานาน 12 สัปดาห์

Ref: Urinary tract infection in males/Emedicine.medscape.com
Harrison 's principles of internal medicine, 18e
Nephrology บรรณาธิการโดย อ.นพ. สมชาย เอี่ยมอ่อง

2 ความคิดเห็น:

  1. ได้รับความรู้มากเลยค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์ อ.นพ. สมชายเอี่ยมอ่อง มีสถิติการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะของโรงพยาบาลโดยเฉพาะไหมค่ะ

    ตอบลบ
  2. อ๋อคือว่าผม (Phimaimedicine) เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ แต่อ้างอิงบางส่วนของ อ.นพ. สมชายเอี่ยมอ่อง ซึ่งอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นะครับ

    ตอบลบ