วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

2,905 ข้อควรทราบในการแยกข้ออักเสบติดเชื้อกับข้ออักเสบเก๊าต์

หากมีไข้ก่อนมีข้ออักเสบมักเป็นข้ออักเสบติดเชื้อ (septic arthritis) หรือถ้ามีการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะอื่นก่อนควรคิดถึงข้ออักเสบติดเชื้อ มักเกิดกับข้อใหญ่ๆ ที่พบบ่อยที่สุดคือข้อเข่า และผู้ป่วยมักมีอาการทางระบบ เช่น อ่อนเพลีย อาการแดงรอบๆ ข้อ เป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้คิดถึงว่าน่าจะเป็นข้ออักเสบจากการติดเชื้อหรือไม่ก็เกิดจาก crystal induced ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของข้ออักเสบติดเชื้อได้แก่ อายุมาก (มากกว่า 80 ปี), มีการติดเชื้อผิวหนัง, เพิ่งได้รับการผ่าตัดข้อ, มีการใส่ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม, เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, เบาหวาน, ภูมิคุมกันบกพร่อง, การใช้ยาเสพติดทางเส้นเลือด
แต่ถ้ามีข้ออักเสบก่อนมีไข้ ข้ออักเสบนั้นมักเกิดจากโรคข้ออักเสบเก้าต์ (gouty arthritis) ร่วมกับการมีประวัติของข้ออักเสบเป็นๆ หายๆ ที่เคยทุเลาลงไปเองภายใน 2-3 วัน หรือตรวจร่างกายพบก้อนใต้ผิวหนัง, ตามใบหู, ตาตุ่มหรือตามข้อต่างๆ หรือเคยมีกรดยูริคในเลือดสูงเกินกว่า 6 มก./ดล. อาจช่วยในการวินิจฉัย แต่การตรวจระดับกรดยูริคในเลือดขณะมีอาการข้ออักเสบอาจทำให้สับสน เพราะระดับอาจจะต่ำลงมาในระดับปกติได้ ในช่วงที่มีข้ออักเสบ และการมีกรดยูริคสูงก็ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ที่จำเพาะสำหรับเก้าต์ โดยเก้าต์มักเกิดที่ metatarsophalangeal joint ของนิ้วหัวแม่เท้า, ข้อของเท้าส่วนกลาง (midfoot) และผู้ป่วยก็สามารถเกิดได้ทั้งข้ออักเสบจากเกาต์และจากการติดเชื้อได้

Ref: หนังสือภาวะฉุกเฉินทางอายุรศาสตร์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
http://www.bpac.org.nz/BT/2008/November/docs/best_tests_nov_2008_pages_7-9.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น