วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

1,596 ความแตกต่างในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ตั้งครรภ์และผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้ป่วยซึ่งเป็นเบาหวานมาก่อนแล้วจึงตั้งครรภ์ ทั้งที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แลชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ จำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง โดยฉีดก่อนอาหาร 3 มื้อหลักและก่อนนอน ในบางรายอาจจำเป็นต้องฉีดอินซูลินก่อนอาหารมื้อย่อย อาจใช้อินซูลินอะนาล็อกออกฤทธิ์เร็ว (rapid acting insulin analogue) เช่น lispro insulin, aspart insulin ซึ่งสามารถใช้ฉีดก่อนอาหารทันทีแทนฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์สั้น (regular human insulin) ได้ สำหรับ glargine insulin ซึ่งเป็น long actinginsulin analogue ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยาสามารถกระตุ้น IGF-1 receptor ได้มากกว่าฮิวแมนอินซูลิน จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่ตา ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นขณะตั้งครรภ์ส่วน insulin detemir ต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมซึ่งกำลังดำเนินการอยู่
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควรได้รับการเปลี่ยนยาเม็ดลดระดับน้ำตาล เป็นยาฉีดอินซูลินก่อนตั้งครรภ์ เพื่อที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี โดยทั่วไปไม่ควรใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ตั้งครรภ์ (คุณภาพหลักฐานระดับ 2, น้ำหนักคำแนะนำ ++) เนื่องจากยาสามารถผ่านไปสู่ทารกได้อาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด และทำให้ทารกเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดแรกคลอดได้บ่อย นอกจากนี้การใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเท่าอินซูลิน มีการใช้ยาเม็ทฟอร์มิน ร่วมกับยาฉีดอินซูลินในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้อินซูลินปริมาณมาก ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น แม้ว่ายาเม็ทฟอร์มินสามารถผ่านรกได้ แต่การศึกษาในสัตว์ทดลองและมนุษย์ยังไม่พบว่าทำให้เกิดผลเสียในทารกการให้อินซูลิน
หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจให้วันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้ฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์นานปานกลางร่วมกับฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์สั้น เกือบทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับอินซูลินในวันคลอดและระยะหลังคลอด หากจำเป็นอาจใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยเลือกใช้ glibencamide หรือ metformin หรือใช้ metformin ร่วมกับอินซูลินในกรณีที่ต้องใช้อินซูลินปริมาณสูงมาก

Ref: แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น